อยากเป็นนักลงเสียง จะเริ่มยังไงดี ?

ถ้าพูดถึงอาชีพที่เกี่ยวกับเสียงที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินก็คงจะเป็น อาชีพดีเจ นักพากย์หนัง พากย์ซีรีย์ แต่ยังมีอาชีพในการใช้เสียงอีกหมวดหมู่หนึ่ง นั้นคือการให้เสียงในงานพรีเซนเทชั่น โมชั่นกราฟฟิก ให้เสียงโฆษณาในวิทยุ ทีวี ยูทูป หรือแม้แต่เดินในห้างคุณก็ยังได้ยินเสียงเหล่านี้
บางคนนิยามอาชีพนี้ว่า announcer หรือบางคนอาจบอกว่าเป็น voice over talent หรือบางคนจะเรียกง่ายๆว่า คนลงเสียง
หลายคนสนใจอยากทำอาชีพนี้ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง จะเริ่มฝึกจากตรงไหน วันนี้แอดมินขอมาแชร์ประสบการณ์ เทคนิคง่ายๆ 4 step ของแอดมินเอง เผื่อเพื่อนๆที่สนใจงานด้านนี้ได้ลองเอาไปฝึกฝนกันค่ะ

1. อ่านให้ชัด เว้นวรรคให้ถูก
หลายเห็นอาจจะบอก “ง่ายๆ อ่านภาษาไทยมาทั้งชีวิต แค่นี้สบายๆ” แต่เชื่อไหมว่าจากประสบการณ์การทำงาน คนไทยส่วนใหญ่อ่านออกเสียงไม่ชัด ยกตัวอย่างง่ายๆ ร เรือ ล ลิง คำควบกล้ำ วรรณยุกต์ พูดรวบคำ พูดไม่เต็มเสียง หรือติดสำเนียงท้องถิ่น “ก็พูดไทยมาตลอดชีวิตไม่เห็นเคยมีใครทักเลยว่าพูดไม่ชัด” บางคนอาจจะแย้งแบบนี้ นั้นเป็นเพราะว่า เราไม่เคยได้กลับมานั่งฟังสิ่งที่ตัวเองพูดออกไปนั้นเอง แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราพูดชัดหรือเปล่า ?

ให้ลองหาหนังสือ หรือบทความอะไรก็ได้ มาอ่านออกเสียง แล้วก็อัดเสียงสิ่งที่ตัวเองอ่านไปทั้งหมด เอากลับมาฟัง “แล้วถ้าไม่มีไมค์ จะอัดเสียงยังไง” ก็โปรแกรมอัดเสียงในสมาร์ทของเรานั้นไง ช่วยได้

พอเราอ่านออกเสียง แล้วเอากลับมาฟังอย่างตั้งใจ เราจะได้เห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง คำไหนที่ควบกล้ำไม่ชัด เสียงเหิน ร เรือ ล ลิงไม่ชัด เราก็ค่อยฝึกฝน ปรับปรุงจนการออกเสียงเราชัดถ้อยชัดคำและชัดเจน
ฝึกเว้นวรรคตอนให้ถูกต้อง

เมื่อเราอ่านได้ถูกต้องชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ เราต้องรู้จักแบ่งวรรคตอนให้ถูก หลายคนคงเคยได้ยินมุก แบ่งวรรคตอนผิด ชีวิตเปลี่ยนกันมาบ้าง เช่น ขอให้แข็ง แรงไม่มี โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แทนที่จะเป็นคำอวยพร กลายเป็นคำแช่งไปซะงั้น เพราะฉะนั้นวิชาภาษาไทยที่ครูเคยสอนมา งัดมาฝึกฝนและใช้ให้เป็นประโยชน์ค่า

2. ตีความหมาย
เมื่อเราอ่านออกเสียงได้ชัดเจน แบ่งวรรคตอนได้ถูกต้องแล้ว คราวนี้เรามาดูความหมาย ตีความ Script ว่าเป็นเรื่องแนวไหน สนุก จริงจัง เศร้า คำไหนที่ควรเน้น ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าเป็นสินค้าแอร์ บทเขียนมาว่า “ให้ความรู้สึกเย็นสบาย” เพราะฉะนั้นคำที่เราควรเน้นคือ เย็นสบาย ดีไซน์เสียงให้คนดูรู้สึกถึงความเย็นสบายผ่านน้ำเสียงของเราให้ได้ อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกฝน

3. เติมอารมณ์ลงไปในเสียง
เมื่อเราตีความ script แล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ เติมอารมณ์ลงไปในเสียง ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้จินตนาการส่วนบุคคลนะคะ ซึ่งอารมณ์ของน้ำเสียงมีความสำคัญมากๆ แม้จะเป็นคำเดียวกัน แต่พูดด้วยน้ำเสียงหรืออารมณ์ที่ต่างกัน ความรู้สึกของคนฟังจะเปลี่ยนไปทันที
ยกตัวอย่าง เช่น แฟนโทรมาถามว่า “กลับกี่โมง” แล้วพูดด้วยเสียงดังแบบห้วนๆ เราก็จะรู้สึกหงุดหงิด เหมือนโดนตามจิกกลับบ้านแน่ๆ
แต่ถ้าในทางกลับกัน เสียงของแฟนเป็นเสียงนุ่มๆ อ้อนๆ ถามว่า “กลับบ้านกี่โมง” เราจะรู้สึกว่าเค้าถามด้วยความคิดถึง เป็นห่วง ทำให้อยากกลับบ้านไวๆ
นี่คืออิทธิพลของน้ำเสียง เพราะฉะนั้นฝึกใช้น้ำเสียงให้ตรงกับ Script หรือตรงตามบรีฟ

4. ค้นหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ
ทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง หาสไตล์ ความถนัดของตัวเองให้เจอ ในงานลงเสียงเราอาจจะมีหลายคาแรคเตอร์ ฝึกฝนค้นหาความถนัดของตัวเองให้เจอ แล้วสร้างมันเป็นสไตล์ของเราค่ะ

 

เป็น 4 ข้อที่ทุกคนสามารถนำไปฝึกฝนตัวเองได้ง่ายๆ จากประสบการณ์จริงของแอดมินนะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจงานด้านนี้นะคะ อยากจะแชร์เรื่องราว พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สอบถามข้อมูลต่างๆ ก็ IB เข้ามาพูดคุยกันได้ค่ะ